การตั้งค่าที่แนะนำสำหรับเราเตอร์ Wi-Fi และจุดเชื่อมต่อสัญญาณ

เพื่อความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือสูงสุด เราขอแนะนำให้ใช้การตั้งค่าเหล่านี้สำหรับเราเตอร์ Wi-Fi, สถานีฐาน หรือจุดเชื่อมต่อที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ Apple

ข้อมูลในบทความนี้มีไว้สําหรับผู้ดูแลระบบเครือข่ายและคนอื่นๆ ที่จัดการเครือข่ายของตนเองเป็นหลัก สําหรับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเข้าร่วมเครือข่าย Wi-Fi โปรดดูบทความเหล่านี้แทน

เกี่ยวกับคำเตือนความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของ Wi-Fi

หากอุปกรณ์ Apple ของคุณแสดงคำเตือนความเป็นส่วนตัวหรือคำเตือนความปลอดภัยต่ำเกี่ยวกับเครือข่าย Wi-Fi เครือข่ายนั้นอาจเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ของคุณ หากคุณดูแลเครือข่าย Wi-Fi เราขอแนะนำให้คุณอัปเดตการตั้งค่าเราเตอร์ Wi-Fi ของคุณให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือสูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยในบทความนี้ หากคุณไม่ได้ดูแลเครือข่าย Wi-Fi ให้นําการตั้งค่าเหล่านี้ไปแจ้งกับผู้ดูแลระบบเครือข่าย

การตั้งค่าเราเตอร์

หากต้องการเปลี่ยนการตั้งค่าเราเตอร์ อัปเดตเฟิร์มแวร์ หรือเปลี่ยนรหัสผ่าน Wi-Fi ให้ใช้หน้าเว็บการกําหนดค่าหรือแอปที่ผู้ผลิตเราเตอร์ให้มา หากต้องการความช่วยเหลือ โปรดดูเอกสารประกอบของเราเตอร์ ปรึกษาผู้ผลิต หรือผู้ดูแลระบบเครือข่ายของคุณ

ก่อนเปลี่ยนการตั้งค่า ให้สํารองข้อมูลการตั้งค่าที่มีอยู่ของเราเตอร์ไว้เผื่อกรณีที่คุณต้องการคืนค่า ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเฟิร์มแวร์ของเราเตอร์ของคุณอัปเดตแล้ว และติดตั้งการอัปเดตซอฟต์แวร์ล่าสุดสําหรับอุปกรณ์ Apple ของคุณ หลังจากเปลี่ยนการตั้งค่า คุณอาจต้องทำการลืมเครือข่ายบนอุปกรณ์แต่ละเครื่องที่เข้าร่วมเครือข่ายก่อนหน้านี้ จากนั้น อุปกรณ์จะใช้การตั้งค่าใหม่ของเราเตอร์เมื่อเข้าร่วมเครือข่ายอีกครั้ง

เพื่อช่วยให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ Apple ของคุณสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายของคุณได้อย่างปลอดภัยและเสถียร ให้ใช้การตั้งค่าเหล่านี้กับทั้งเราเตอร์ Wi-Fi และจุดเชื่อมต่อ และกับแต่ละย่านความถี่ของเราเตอร์แบบสองย่านความถี่ สามย่านความถี่ หรือแบบหลายย่านความถี่อื่นๆ

ความปลอดภัย

ตั้งค่าเป็น WPA3 Personal เพื่อความปลอดภัยที่ดีขึ้น หรือเป็น WPA2/WPA3 Transitional เพื่อให้สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์รุ่นเก่าได้

การตั้งค่าความปลอดภัยจะกำหนดประเภทของการรับรองความถูกต้องและการเข้ารหัสที่เราเตอร์ใช้ และกำหนดระดับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่าย ไม่ว่าคุณจะเลือกการตั้งค่าใด ให้ตั้งรหัสผ่านที่เดายากเสมอสำหรับการเข้าร่วมเครือข่าย

  • WPA3 Personal เป็นโปรโตคอลใหม่ล่าสุดและปลอดภัยที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับอุปกรณ์ Wi-Fi ใช้งานได้กับอุปกรณ์ทั้งหมดที่รองรับ Wi-Fi 6 (802.11ax) และอุปกรณ์รุ่นเก่าบางรุ่น

  • WPA2/WPA3 Transitional เป็นโหมดผสมที่ใช้ WPA3 Personal กับอุปกรณ์ที่รองรับโปรโตคอลนั้น ขณะที่อนุญาตให้อุปกรณ์รุ่นเก่าใช้ WPA2 Personal (AES) แทน

  • WPA2 Personal (AES) เหมาะสำหรับกรณีที่คุณไม่สามารถใช้หนึ่งในโหมดที่ปลอดภัยกว่า ในกรณีดังกล่าว ให้เลือก AES เป็นประเภทการเข้ารหัสหรือ cipher หากมี

การตั้งค่าความปลอดภัยที่ต่ำที่ไม่ควรใช้ในเราเตอร์ของคุณ

อย่าสร้างหรือเข้าร่วมเครือข่ายที่ใช้โปรโตคอลความปลอดภัยรุ่นเก่าที่เลิกใช้แล้ว โปรโตคอลเหล่านี้ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ทำให้ความเสถียรและประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลง อีกทั้งยังทำให้อุปกรณ์ของคุณแสดงคำเตือนด้านความปลอดภัย:

  • WPA/WPA2 Mixed Mode

  • WPA Personal

  • WEP รวมถึง WEP Open, WEP Shared, WEP Transitional Security Network หรือ Dynamic WEP (WEP with 802.1X)

  • TKIP รวมถึงการตั้งค่าความปลอดภัยใดๆ ที่มี TKIP อยู่ในชื่อ

นอกจากนี้ยังขอแนะนำอย่างยิ่งไม่ให้ใช้การตั้งค่าที่ปิดการรักษาความปลอดภัย เช่น ไม่มี เปิด หรือไม่ปลอดภัย การปิดระบบความปลอดภัยจะปิดใช้งานการรับรองความถูกต้องและการเข้ารหัส ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมเครือข่ายของคุณ เข้าถึงทรัพยากรที่แชร์ (รวมถึงเครื่องพิมพ์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ) ใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของคุณ และตรวจสอบงเว็บไซต์ที่คุณเข้าชม รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่ส่งผ่านเครือข่ายหรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของคุณ การทำเช่นนี้มีความเสี่ยง แม้ว่าจะปิดการรักษาความปลอดภัยไว้ชั่วคราวหรือสำหรับเครือข่ายผู้ใช้ทั่วไปก็ตาม

ชื่อเครือข่าย (SSID)

ตั้งค่าเป็นชื่อเดียวที่ไม่ซ้ำกัน (ยึดตามตัวพิมพ์) สำหรับย่านความถี่ทั้งหมด

SSID (Service Set Identifier) เป็นชื่อที่เครือข่ายของคุณใช้เพื่อโฆษณาการมีอยู่ของอุปกรณ์อื่นๆ และเป็นชื่อที่ผู้ใช้ที่อยู่ใกล้ๆ เห็นในรายการเครือข่ายที่ใช้งานได้ของอุปกรณ์

  • ดูให้แน่ใจว่าเราเตอร์ทั้งหมดบนเครือข่ายของคุณใช้ชื่อเดียวกันทุกย่านความถี่ที่รองรับ หากคุณตั้งชื่อย่านความถี่ 2.4GHz, 5GHz หรือ 6GHz แตกกัน อุปกรณ์อาจไม่เชื่อมต่ออย่างเสถียรกับเครือข่ายของคุณ เราเตอร์ทั้งหมดบนเครือข่ายของคุณ หรือกับย่านความถี่ที่ใช้ได้ทั้งหมดของเราเตอร์ของคุณ หากเราเตอร์ของคุณให้บริการเครือข่าย Wi-Fi 6E ที่ไม่ได้ใช้ชื่อเดียวกันในทุกย่านความถี่ อุปกรณ์ Apple ที่รองรับ Wi-Fi 6E จะมองว่าเป็นเครือข่ายที่เข้ากันได้แบบจำกัด

  • ใช้ชื่อที่เจาะจงสำหรับเครือข่ายของคุณ อย่าใช้ชื่อทั่วไปหรือชื่อเริ่มต้น เช่น linksys, netgear, dlink, wireless หรือ 2wire มิเช่นนั้นอุปกรณ์ที่เข้าร่วมเครือข่ายของคุณมีแนวโน้มที่จะพบกับเครือข่ายอื่นที่มีชื่อเดียวกัน แล้วพยายามเชื่อมต่อกับเครือข่ายดังกล่าวโดยอัตโนมัติ

เครือข่ายที่ซ่อนอยู่

ตั้งค่าเป็น “ปิดใช้งาน”

สามารถกำหนดค่าเราเตอร์ให้ซ่อนชื่อเครือข่าย (SSID) ได้ เราเตอร์ของคุณอาจใช้ "ปิด" เพื่อหมายถึงซ่อน และ "แสดง" เพื่อหมายถึงไม่ซ่อนอย่างไม่ถูกต้อง

การซ่อนชื่อเครือข่ายไม่ได้ซ่อนเครือข่ายจากการตรวจหาหรือป้องกันการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต และเนื่องจากวิธีการที่อุปกรณ์ค้นหาและเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi การใช้เครือข่ายที่ซ่อนอยู่อาจเปิดเผยข้อมูลที่สามารถใช้ระบุตัวตนของคุณและเครือข่ายที่ซ่อนที่คุณใช้อยู่ เช่น เครือข่ายที่บ้านของคุณ เมื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายที่ซ่อนอยู่ อุปกรณ์ของคุณอาจแสดงคำเตือนความเป็นส่วนตัวเนื่องจากความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวนี้

หากต้องการเข้าถึงเครือข่ายของคุณอย่างปลอดภัย ให้ใช้วิธีการตั้งค่าความปลอดภัยที่เหมาะสมแทน

การกรองที่อยู่ MAC, การรับรองความถูกต้อง หรือการควบคุมการเข้าถึง

ตั้งค่าเป็น “ปิดใช้งาน”

เมื่อเปิดใช้งานคุณสมบัตินี้ จะสามารถตั้งค่าเราเตอร์ของคุณให้อนุญาตเฉพาะอุปกรณ์ที่มีที่อยู่ MAC (การควบคุมการเข้าถึงสื่อ) ที่ระบุเพื่อเข้าร่วมเครือข่าย คุณไม่ควรใช้คุณสมบัตินี้เพื่อป้องกันการเข้าถึงเครือข่ายของคุณโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

หากต้องการเข้าถึงเครือข่ายของคุณอย่างปลอดภัย ให้ใช้วิธีการตั้งค่าความปลอดภัยที่เหมาะสมแทน

การอัปเดตเฟิร์มแวร์อัตโนมัติ

ตั้งค่าเป็น “เปิดใช้งาน”

หากเป็นไปได้ ให้ตั้งค่าเราเตอร์ของคุณให้ติดตั้งการอัปเดตซอฟต์แวร์และเฟิร์มแวร์โดยอัตโนมัติ เมื่อมีให้ใช้งาน การอัปเดตเฟิร์มแวร์อาจส่งผลต่อการตั้งค่าความปลอดภัยที่มีให้คุณ และยังมอบการปรับปรุงที่สำคัญอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเสถียร ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยให้กับเราเตอร์ของคุณ

โหมดวิทยุ

ตั้งค่าเป็น “ทั้งหมด” (แนะนำ) หรือเป็น Wi-Fi 2 ถึง Wi-Fi 6 หรือมากกว่านั้น

การตั้งค่าโหมดวิทยุ ซึ่งมีให้แยกกันสำหรับย่านความถี่ 2.4GHz, 5GHz และ 6GHz จะควบคุมว่าเราเตอร์จะใช้มาตรฐาน Wi-Fi เวอร์ชั่นใดสำหรับการสื่อสารไร้สาย รุ่นที่ใหม่กว่ามอบประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและรองรับอุปกรณ์พร้อมกันได้มากขึ้น

โดยปกติแล้ววิธีที่ดีที่สุดคือเปิดใช้งานทุกโหมดที่เราเตอร์ของคุณมี แทนที่จะเป็นชุดย่อยของโหมดเหล่านั้น อุปกรณ์ทั้งหมด รวมถึงอุปกรณ์รุ่นเก่า สามารถเชื่อมต่อโดยใช้โหมดวิทยุที่เร็วที่สุดที่อุปกรณ์เหล่านั้นรองรับ ตัวเลือกนี้ยังช่วยลดการรบกวนจากเครือข่ายและอุปกรณ์เดิมที่อยู่ใกล้ๆ

ย่านความถี่

เปิดใช้งานทุกย่านความถี่ที่เราเตอร์ของคุณรองรับ.

ย่านความถี่ Wi-Fi เปรียบเสมือนถนนที่ข้อมูลไหลผ่านได้ ย่านความถี่สูงกว่าจะให้พื้นที่เก็บข้อมูลและประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับเครือข่ายของคุณ

ช่องสัญญาณ

ตั้งค่าเป็น “อัตโนมัติ”

เราเตอร์แต่ละตัวของคุณจะแบ่งออกเป็นหลายช่องทางการสื่อสารอิสระ เช่น ช่องทางการเดินรถบนถนน เมื่อการเลือกช่องถูกตั้งค่าเป็นอัตโนมัติ เราเตอร์ของคุณจะเลือกช่องสัญญาณ Wi-Fi ที่ดีที่สุดให้คุณ

หากเราเตอร์ของคุณไม่รองรับการเลือกช่องสัญญาณอัตโนมัติ ให้เลือกว่าช่องสัญญาณใดทำงานได้ดีที่สุดในสภาพแวดล้อมเครือข่ายของคุณ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามสัญญาณรบกวน Wi-Fi ในสภาพแวดล้อมเครือข่ายของคุณ ซึ่งอาจรวมถึงการรบกวนจากเราเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ช่องสัญญาณเดียวกัน หากคุณมีเราเตอร์หลายตัว ให้กำหนดค่าให้แต่ละตัวใช้ช่องสัญญาณที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอยู่ใกล้กัน

ความกว้างช่องสัญญาณ

ตั้งค่าเป็น 20MHz สำหรับย่านความถี่ 2.4GHz. ตั้งค่าเป็นอัตโนมัติ หรือ ทุกช่วง สำหรับย่านความถี่ 5 GHz และ 6 Ghz.

ความกว้างช่องสัญญาณจะระบุว่ามี "ท่อ" ขนาดใหญ่เท่าใดสำหรับการถ่ายโอนข้อมูล ช่องสัญญาณที่กว้างกว่าจะเร็วกว่า แต่จะไวต่อสัญญาณรบกวนและมีแนวโน้มที่จะรบกวนอุปกรณ์อื่นๆ

  • 20MHz สำหรับย่านความถี่ 2.4GHz ช่วยป้องกันปัญหาด้านประสิทธิภาพและความเสถียร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ใกล้กับเครือข่าย Wi-Fi อื่นและอุปกรณ์ 2.4GHz รวมถึงอุปกรณ์บลูทูธ

  • ความกว้างของช่องสัญญาณอัตโนมัติหรือทุกช่วงสำหรับย่านความถี่ 5GHz และ 6GHz ช่วยให้มั่นใจได้ถึงประสิทธิภาพที่ดีที่สุดและสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ทุกรุ่น ย่านความถี่เหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องสัญญาณรบกวนไร้สายน้อยลง

DHCP

ตั้งค่าเป็น “เปิดใช้งาน” หากเราเตอร์ของคุณเป็นเซิร์ฟเวอร์ DHCP เดียวในเครือข่าย

DHCP (Dynamic Host Configuration Protocol) จะกำหนดที่อยู่ IP ให้กับอุปกรณ์ในเครือข่ายของคุณ ที่อยู่ IP แต่ละรายการจะระบุอุปกรณ์ในเครือข่ายและทำให้สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ ในเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตได้ อุปกรณ์เครือข่ายต้องมีที่อยู่ IP เช่นเดียวกับโทรศัพท์ที่ต้องมีหมายเลขโทรศัพท์

เครือข่ายของคุณควรมีเซิร์ฟเวอร์ DHCP เดียวเท่านั้น หากเปิดใช้งาน DHCP ในอุปกรณ์มากกว่าหนึ่งเครื่อง เช่น ทั้งเคเบิลโมเด็มและเราเตอร์ของคุณ ความขัดแย้งของที่อยู่อาจทำให้อุปกรณ์บางอย่างไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหรือใช้ทรัพยากรเครือข่ายได้

DHCP Lease Time

ตั้งค่าเป็น 8 ชั่วโมงสําหรับเครือข่ายที่บ้านหรือที่ทํางาน ตั้งค่าเป็น 1 ชั่วโมงสําหรับฮอตสปอตหรือเครือข่ายผู้ใช้ทั่วไป

DHCP Lease Time คือระยะเวลาที่มีการสงวนที่อยู่ IP ที่ได้รับการกำหนดให้กับอุปกรณ์สำหรับอุปกรณ์นั้น

ตามปกติแล้ว เราเตอร์ Wi-Fi จะมีที่อยู่ IP จำนวนจำกัดซึ่งสามารถกำหนดให้กับอุปกรณ์ในเครือข่าย หากจำนวนนั้นถูกใช้หมด เราเตอร์จะไม่สามารถกำหนดที่อยู่ IP ให้กับอุปกรณ์ใหม่ ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นไม่สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ ในเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตได้ การลด DHCP Lease Time ช่วยให้เราเตอร์สามารถเรียกคืนและกำหนดที่อยู่ IP เดิมที่ไม่ใช้งานแล้วได้เร็วขึ้น

NAT

ตั้งค่าเป็น “เปิดใช้งาน” หากเราเตอร์ของคุณเป็นอุปกรณ์เดียวที่ให้บริการ NAT บนเครือข่าย

NAT (Network Address Translation) จะแปลระหว่างที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตและที่อยู่ที่อยู่ในเครือข่ายของคุณ สามารถอธิบายเกี่ยวกับ NAT ให้เข้าใจได้ง่าย โดยการนึกถึงแผนกไปรษณีย์ของบริษัท ซึ่งการจัดส่งให้กับพนักงานตามที่อยู่ของบริษัทจะถูกส่งไปยังสำนักงานของพนักงานภายในอาคาร

โดยทั่วไป ให้เปิดใช้งาน NAT บนเราเตอร์ของคุณเท่านั้น หากเปิดใช้งาน NAT บนอุปกรณ์มากกว่าหนึ่งเครื่อง เช่น ทั้งเคเบิลโมเด็มและเราเตอร์ "double NAT" ที่เกิดขึ้นอาจทำให้อุปกรณ์สูญเสียการเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างในเครือข่ายหรืออินเทอร์เน็ต

WMM

ตั้งค่าเป็น “เปิดใช้งาน”

WMM (Wi-Fi Multimedia) จะจัดลำดับความสำคัญของการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้งานเครือข่ายรูปแบบต่างๆ เช่น วิดีโอและเสียง เราเตอร์ทั้งหมดที่รองรับ Wi-Fi 4 (802.11n) หรือใหม่กว่าควรเปิดใช้งาน WMM ตามค่าเริ่มต้น การปิดใช้งาน WMM อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพและความเสถียรของอุปกรณ์ในเครือข่าย

เซิร์ฟเวอร์ DNS

ใช้เซิร์ฟเวอร์ DNS เริ่มต้นต่อไป หรือระบุเซิร์ฟเวอร์หลักหรือเซิร์ฟเวอร์รองอื่น

เพื่อให้เข้าถึงเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย อุปกรณ์จําเป็นต้องมีเซิร์ฟเวอร์ DNS (Domain Name System) เพื่อแปลชื่อโดเมน (เช่น apple.com) เป็นที่อยู่ IP ตามค่าเริ่มต้น เราเตอร์ของคุณจะใช้เซิร์ฟเวอร์ DNS ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ของคุณ หากกําหนดค่าให้ใช้เซิร์ฟเวอร์ DNS อื่น อุปกรณ์จะใช้เซิร์ฟเวอร์นั้นตามค่าเริ่มต้นในขณะที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเราเตอร์ของคุณ

หากอุปกรณ์ของคุณเตือนคุณว่าเครือข่ายของคุณกําลังบล็อกการรับส่งข้อมูล DNS ที่เข้ารหัส คุณสามารถใช้เซิร์ฟเวอร์ DNS ที่กําหนดค่าไว้ต่อไปได้ แต่ชื่อของเว็บไซต์และเซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ที่อุปกรณ์เข้าถึงบนเครือข่ายนั้นจะไม่ได้รับการเข้ารหัส จึงสามารถถูกตรวจสอบและบันทึกโดยอุปกรณ์อื่นบนเครือข่ายได้ คุณสามารถติดต่อ ISP ของคุณหรือผู้ให้บริการ DNS อื่นๆ เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ แต่ก่อนอื่นให้ลองใช้วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ก่อน: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้อัปเดตซอฟต์แวร์ของคุณแล้ว และการตั้งค่าความปลอดภัยได้รับการกําหนดค่าตามที่แนะนํา รีสตาร์ทอุปกรณ์ รีสตาร์ทเราเตอร์ ทำการลืมเครือข่าย Wi-Fi แล้วเข้าร่วมอีกครั้ง

คุณสมบัติที่สามารถส่งผลกระทบต่อการเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้

คุณสมบัติเหล่านี้อาจส่งผลต่อวิธีการตั้งค่าเราเตอร์หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเราเตอร์

ที่อยู่ Wi-Fi แบบส่วนตัว

หากคุณเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi จาก iPhone, iPad, Apple Watch หรือ Apple Vision Pro โปรดูข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ที่อยู่ Wi-Fi ส่วนตัวบนอุปกรณ์เหล่านั้น

บริการหาตำแหน่งที่ตั้ง

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ได้เปิดบริการหาตำแหน่งที่ตั้งสำหรับเครือข่าย Wi-Fi เนื่องจากข้อบังคับในแต่ละประเทศหรือภูมิภาคจะกำหนดช่องสัญญาณ Wi-Fi และความแรงของสัญญาณไร้สายที่ได้รับอนุญาตสำหรับตำแหน่งที่ตั้งนั้น บริการหาตำแหน่งที่ตั้งช่วยยืนยันว่าอุปกรณ์ของคุณสามารถเห็นและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้เคียงได้ และยังทำงานได้ดีเมื่อใช้ Wi-Fi หรือคุณสมบัติที่ต้องใช้ Wi-Fi เช่น AirPlay หรือ AirDrop

Mac ที่ใช้ macOS Ventura หรือใหม่กว่า

  1. เลือกเมนู Apple  > การตั้งค่าระบบ จากนั้นคลิกความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในแถบด้านข้าง

  2. คลิกบริการหาตำแหน่งที่ตั้งทางด้านขวา

  3. เลื่อนลงไปด้านล่างสุดของรายการแอปและบริการ แล้วคลิกปุ่มรายละเอียดที่อยู่ข้างบริการระบบ

  4. เปิด "เครือข่ายและไร้สาย" จากนั้นคลิกเสร็จสิ้น

Mac ที่ใช้ macOS Monterey หรือก่อนหน้า

  1. เลือกเมนู Apple  > การตั้งค่าระบบ แล้วคลิกความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

  2. คลิกแม่กุญแจแม่กุญแจ ที่มุมของหน้าต่าง แล้วป้อนรหัสผ่านของผู้ดูแลระบบ

  3. ในแท็บความเป็นส่วนตัว ให้เลือกบริการหาตำแหน่งที่ตั้ง แล้วเลือกเปิดใช้งานบริการหาตำแหน่งที่ตั้ง

  4. เลื่อนลงไปด้านล่างสุดของรายการแอปและบริการ แล้วคลิกปุ่มรายละเอียดที่อยู่ข้างบริการระบบ

  5. เลือกระบบเครือข่ายและไร้สาย (หรือระบบเครือข่าย Wi-Fi) จากนั้นคลิกเสร็จสิ้น

iPhone, iPad และ Apple Vision Pro

  1. ไปที่การตั้งค่า > ความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัย > บริการหาตำแหน่งที่ตั้ง

  2. เปิดบริการหาตำแหน่งที่ตั้ง

  3. เลื่อนไปที่ด้านล่างของรายการ แล้วแตะบริการระบบ

  4. เปิดระบบเครือข่ายและไร้สาย (หรือเครือข่าย Wi-Fi)

เข้าร่วมอัตโนมัติเมื่อใช้กับเครือข่าย Wi-Fi ของผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สาย

เครือข่าย Wi-Fi ของผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายเป็นเครือข่ายสาธารณะที่ติดตั้งโดยผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายของคุณและคู่ค้าของพวกเขา iPhone หรืออุปกรณ์เซลลูลาร์ Apple อื่นๆ ของคุณจะจดจําเครือข่ายเหล่านี้ว่าเป็นเครือข่ายที่รู้จักและมีการจัดการ และจะเข้าร่วมโดยอัตโนมัติ หากคุณเห็นคำเตือนความเป็นส่วนตัวใต้ชื่อเครือข่าย Wi-Fi ข้อมูลเฉพาะตัวเซลลูลาร์ของคุณอาจถูกเปิดเผยหากอุปกรณ์ของคุณเคยเข้าร่วมฮอตสปอตที่ประสงค์ร้ายที่ปลอมเป็นเครือข่ายนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้นี้และป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ของคุณเข้าร่วมเครือข่ายโดยอัตโนมัติ ให้ปิดการเข้าร่วมอัตโนมัติสําหรับเครือข่ายนั้น โดยทำดังนี้

  1. ไปที่การตั้งค่า > Wi-Fi

  2. แตะแก้ไขที่มุมของหน้าจอเพื่อดูเครือข่ายที่อุปกรณ์ของคุณรู้จัก

  3. เลื่อนลงไปที่ส่วนเครือข่ายที่มีการจัดการของรายการ ซึ่งรวมถึงเครือข่ายสาธารณะของผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายของคุณ (ส่วนนี้ของรายการไม่สามารถแก้ไขได้)

  4. แตะ ปุ่มข้อมูลเพิ่มเติมแตะ ถัดจากชื่อเครือข่าย จากนั้นปิดการเข้าร่วมอัตโนมัติสําหรับเครือข่ายนั้น

การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผลิตโดย Apple หรือเว็บไซต์อิสระที่ Apple ไม่ได้ควบคุมหรือทดสอบไม่ถือเป็นการแนะนำหรือการรับรองใดๆ Apple จะไม่รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือก ประสิทธิภาพการทำงาน หรือการใช้งานเว็บไซต์หรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทอื่น Apple ไม่รับรองความถูกต้องหรือความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ของบริษัทอื่น โปรดติดต่อผู้จำหน่ายหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

วันที่เผยแพร่: